ย้อนกลับไปเมื่อปี 2022 จำนวนผู้อพยพและผู้ลี้ภัยทั่วโลก พุ่งทะยานไปแตะที่ หลักร้อยล้านราย โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ลี้ภัยจากทวีปแอฟริกาที่กำลังเผชิญปัญหาความยากจน ภาวะขาดแคลนอาหาร และสงครามกลางเมือง หนึ่งในประเทศปลายทางที่ผู้อพยพในแอฟริกานิยมมุ่งหน้าไปคือ ประเทศตูนิเซียในแอฟริกาเหนือ เพื่อข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเข้าสู่ยุโรป จนเกิดเหตุเรือผู้อพยพอับปางกลางทะเล กลายเป็นโศกนาฏกรรมหลายครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
เรือผู้อพยพล่มนอกชายฝั่งกรีซ ตาย 79 สูญหายหลายร้อย
สหรัฐฯ หวั่นเกิดวิกฤตผู้อพยพ เร่งผ่านกม. สกัด
เมื่อวานนี้ สหภาพยุโรปได้ลงนามใน “ข้อตกลงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” กับประเทศตูนิเซีย เพื่อช่วยสกัดกั้นการย้ายถิ่นฐานแบบผิดกฎหมาย โดยคิดเป็นจำนวนเงินมูลค่ากว่า 1 พันล้านยูโร หรือราว 39,000 ล้านบาท โดยพิธีลงนามมีขึ้นที่กรุงตูนิส ประเทศตูนิเซีย โดยมีมาร์ค รุตเตอ นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ จอร์เจีย เมโลนี นายกรัฐมนตรีอิตาลี และเออร์ซูลา ฟอน เดอ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เข้าร่วมลงนามกับไค ซาอิด ประธานาธิบดีตูนิเซีย
ข้อตกลงฉบับนี้เกิดขึ้นหลังเจรจากันนานหลายสัปดาห์ระหว่างสหภาพยุโรปและรัฐบาลตูนิเซีย รวมถึงเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากผู้นำตูนิเซีย ได้ออกมาเปิดเผยมูลค่าของการลักลอบขนย้ายผู้ลี้ภัยที่มีเม็ดเงินสะพัดกว่า 760 ล้านยูโร หรือราว 30,000 ล้านบาท
เออร์ซูลา ฟอน เดอ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ได้กล่าวแสดงความยินดีที่ทุกฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงฉบับนี้ได้ โดยระบุว่าข้อตกลงนี้เป็นการลงทุนเพื่ออนาคตของคนรุ่นต่อไปข้อตกลงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ฉบับนี้ มีเป้าหมายให้ความช่วยเหลือแก่ตูนิเซียครอบคลุม 5 ด้าน ได้แก่ ด้านผู้อพยพ ด้านเสถียรภาพของเศรษฐกิจตูนิเซียในระดับมหภาค ด้านการค้าและการลงทุน ด้านการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสีเขียว ตลอดจนด้านปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในตูนิเซีย
นอกจากนี้ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปยังได้แถลงว่า สหภาพยุโรปจะมอบเงินช่วยเหลือมูลค่ากว่า 100 ล้านยูโร หรือราว 4,000 ล้านบาทให้แก่ตูนิเซีย เพื่อต่อต้านกลุ่มลักลอบขนย้ายผู้ลี้ภัยแบบผิดกฎหมาย ตลอดจนค้นหาและช่วยเหลือผู้ลี้ภัยคำพูดจาก สล็อตเว็บตรง
ด้านไค ซาอิด ประธานาธิบดีตูนิเซียได้กล่าวประณามองค์กรด้านมนุษยธรรมที่เผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับตูนิเซีย แทนที่จะมุ่งความสนใจไปยังกลุ่มอาชญากรที่อยู่เบื้องหลังธุรกิจลักลอบขนย้ายผู้ลี้ภัยแบบผิดกฎหมาย นอกจากนี้ ผู้นำตูนิเซียยังได้ระบุว่า ผู้คนทั่วโลกเชื่อในเรื่องการอยู่ร่วมกัน และความเสมอภาคควบคู่ไปกับการให้ความเคารพซึ่งกันและกัน มากกว่าความเห็นอกเห็นใจที่นำไปสู่การอพยพแบบผิดกฎหมาย
ทั้งนี้ประเทศตูนิเซียเป็นประเทศเล็กๆ ในแอฟริกาเหนือ มีพื้นที่ราว 164,000 ตารางกิโลเมตร มีประชากรราว 12 ล้านคน พื้นที่ทางทิศเหนือและตะวันออกติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทะเลที่เชื่อมไปสู่แหลมซิซิลีและแหลมซาร์ดิเนียของอิตาลีในทวีปยุโรป พื้นที่ทางตะวันตกติดกับแอลจีเรีย ส่วนทางตะวันออกติดกับประเทศลิเบีย ด้วยภูมิศาสตร์ของประเทศทำให้ที่นี่กลายเป็นด่านหน้าของคลื่นผู้ลี้ภัยที่มุ่งหน้าเข้าไปสู่ยุโรป
ประเทศเล็กๆ ในแอฟริกาเหนือแห่งนี้ เป็นประเทศของผู้อพยพมาตลอด โดยเฉพาะหลังการสิ้นสุดสถานะรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสเมื่อปี 1956 ในอดีตผู้อพยพส่วนใหญ่นิยมอพยพไปยังยุโรปตะวันตก เช่น ฝรั่งเศส เนื่องในเวลานั้นฝรั่งเศสเผชิญปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ต่อมา ผู้อพยพได้เปลี่ยนเป้าหมายจากฝรั่งเศสเป็นอิตาลี ที่มีพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ใกล้กว่าโดยมีแค่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกั้นเท่านั้น เนื่องจากฝรั่งเศสใช้มาตรการเข้มงวดเพื่อสกัดผู้ลี้ภัย
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ตูนิเซียเผชิญกับปัญหาการย้ายถิ่นฐานผิดกฎหมายอย่างหนัก ผู้ลี้ภัยที่ไม่มีเอกสารลี้ภัยอย่างถูกต้องหลายพันคนมุ่งหน้าไปยังสแฟกซ์ เมืองชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ
ส่วนสาเหตุที่ผู้ลี้ภัยมาที่นี่ เนื่องจากต้องการขึ้นเรือของกลุ่มขบวนการค้ามนุษย์เพื่อข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปยังประเทศอิตาลี จนกลายเป็นวิกฤตผู้อพยพที่รุนแรงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในตูนิเซีย และสร้างความหนักใจให้กับรัฐบาลอิตาลีชุดปัจจุบัน ที่ชูนโยบายต่อต้านผู้ลี้ภัย เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทางการอิตาลีรายงานว่า ผู้อพยพทางเรือราว 75,065 คนได้ขึ้นฝั่งอิตาลี นับว่าเป็นจำนวนที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าเท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2022 ที่มีผู้อพยพทางเรือขึ้นฝั่งอิตาลีเพียง 31,920 คนเท่านั้น ทางการอิตาลีเปิดเผยว่า จำนวนผู้อพยพเฉียดแสนคนนี้ เกินกว่าครึ่งเดินทางมาจากประเทศตูนิเซีย แซงหน้าลิเบีย ประเทศเพื่อนบ้านที่เคยประเทศต้นทางของผู้อพยพที่เดินทางเข้ามาอิตาลี
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ผู้อพยพทุกคนที่จะเดินทางไปถึงยุโรป เนื่องจากจำนวนไม่น้อยเสียชีวิตระหว่างการเดินทางจากเหตุเรืออับปางกลางทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เพราะคลื่นลมแรงรวมถึงการบรรทุกคนเกินขนาดความจุเรือ
ในแต่ละปีจะมีข่าวเรือผู้อพยพล่มกลางทะเลบ่อยครั้ง โดยเหตุการณ์ล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยเป็นเหตุเรือผู้อพยพล่มในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ระหว่างเมืองสแฟ็กซ์ของตูนิเซีย และเกาะลัมเปดูซาของอิตาลี
องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน หรือ IOM รายงานว่า เรือลำนี้บรรทุกผู้ลี้ภัยมาราว 46 คน แต่กลับพลิกคว่ำเนื่องจากเผชิญกับคลื่นลมทะเลแรง ทำให้มีผู้สูญหายราว 37-40 ราย และรอดชีวิตเพียง 4 รายเท่านั้น
นี่เป็นเพียงหนึ่งในความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการขนย้ายผู้อพยพแบบผิดกฎหมายเท่านั้น เมื่อวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานได้เปิดเผยข้อมูลว่าเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2023 มีผู้อพยพเสียชีวิตหรือสูญหายจากเหตุเรืออับปางในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนแล้วอย่างน้อย 1,166 ราย และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอีกหลังจากนี้
เหตุการณ์เรือผู้อพยพล่มในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ถือเป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนถึงวิกฤตด้านมนุษยธรรมทั้งในทวีปยุโรปและแอฟริกา นี่จึงเป็นสาเหตุทำให้ชาติยุโรปต้องยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศตูนิเซีย ซึ่งมีสถานะเป็นประเทศต้นทางของผู้อพยพ คอยสกัดผู้ลี้ภัยผิดกฎหมายก่อนที่จะมุ่งหน้าสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อย่างไรก็ดี เบื้องหลังการให้ความช่วยเหลือกว่า 39,000 ล้านบาท มีปมการเมืองซ่อนอยู่เบื้องหลังด้วยเช่นกัน นี่คือสิ่งที่เรียกว่า การทูตเพื่อการอพยพ หรือMigration diplomacy ที่กำลังปกป้องสังคมและเศรษฐกิจยุโรปจากคลื่นผู้ลี้ภัยจำนวนมากจากแอฟริกา
ประเทศที่จะได้รับผลกระทบเป็นประเทศแรกๆ จากการคลื่นผู้อพยพจากตูนิเซีย คือ ประเทศที่ใกล้สุดอย่างอิตาลี และนี่จึงกลายเป็นเหตุผลที่ผู้นำอิตาลีปรากฏตัวในพิธีลงนามข้อตกลงเมื่อวานนี้ เม็ดเงินมูลค่ามหาศาลที่ยุโรปประกาศว่าเป็นการลงทุนเพื่อนาคต มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจของตูนิเซียที่กำลังอยู่ในภาวะย่ำแย่และอัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากความไม่สงบทางการเมืองภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีซาอิด
ทั้งอิตาลีและสหภาพยุโรปกังวลว่าถ้าเศรษฐกิจของตูนิเซียพังทลายในเวลานี้ ตูนิเซียจะไม่สามารถสกัดผู้อพยพได้ และจำนวนผู้อพยพในยุโรปจะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ซ้ำเติมวิกฤตผู้ลี้ภัยในยุโรปที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้
ตอนนี้หลายประเทศในยุโรป เช่น โปแลนด์ เยอรมนี และรัฐบอลติก กำลังเผชิญกับปัญหาผู้ลี้ภัยชาวยูเครนกว่า 5 ล้านคน ที่หนีภัยจากการรุกรานของรัสเซียออกมานอกประเทศ ถือเป็นวิกฤตผู้ลี้ภัยครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง
นอกจากทวีปยุโรปและแอฟริกาแล้ว อีกพื้นที่ที่เผชิญกับปัญหาผู้อพยพคือ ประเทศเม็กซิโกในทวีปอเมริกาใต้ โดยเมื่อวานนี้เจ้าหน้าที่ทางการเม็กซิโกได้ช่วยผู้อพยพที่ต้องเบียดเสียดกันอยู่ในรถบรรทุก
นี่คือภาพขณะที่เจ้าหน้าที่กองทัพเรือ สถาบันการย้ายถิ่นฐานแห่งชาติของเม็กซิโก กำลังช่วยผู้อพยพกว่า 196 คนออกจากรถบรรทุกคันหนึ่ง โดยได้บรรทุกทั้งเด็ก ผู้หญิง และวัยรุ่น โดยในจำนวนผู้อพยพทั้งหมดมีชาวต่างชาติรวมอยู่ด้วย เป็นชาวกัวเตมาลา 5 คน และชาวอินเดียอีก 5 คน โดยทั้งหมดต้องยืนเบียดเสียดกัน โดยมีพื้นที่แคบๆ ไว้สำหรับหายใจเท่านั้น
ทางการเม็กซิโกรายงานว่า ไม่มีการจับกุมตัวผู้ต้องสงสัย และผู้อพยพที่ได้รับการช่วยเหลือถูกส่งต่อไปยังระบบแห่งชาติเพื่อการพัฒนาครอบครัวของภาครัฐเรียบร้อยแล้ว